จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันพุธที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

ตะลึง! แม่ไทยให้นมลูกติดที่โหล่โลก

ชี้เหตุฉุดไอคิว-เด็กขี้โรค สธ.จี้แก้ไขด่วน!!


สธ.เผยผลสำรวจพบแม่ไทยนิยมเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือนต่ำติดอันดับสุดท้ายเอเชีย และติดอันดับ 3 ก่อนสุดท้ายของโลก เป็นเหตุฉุดไอคิวเด็กไทยต่ำกว่ามาตรฐาน และ 1 ใน 3 มีพัฒนาการช้า

จัดวาระด่วนแก้ไข สร้าง อสม. กว่า 8แสนคนทั่วประเทศ เป็นผู้วางรากฐานชีวิตเด็กเกิดใหม่ กระตุ้นหญิงตั้งครรภ์-หลังคลอดให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือนให้ได้ หวังเด็กไทยมีไอคิวสูงขึ้น 11 จุด ชี้ประหยัดกว่านมผงเดือนละ 3,000 บาท ขณะที่อธิบดีกรมสุขภาพจิตชี้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ลดความขัดแย้งเด็กตีกัน ขาดอีคิวยับยั้งชั่งใจ

วันนี้ (29 ม.ค ) ที่กระทรวงสาธารณสุข นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคสุวะพลา อธิบดีกรมอนามัย นพ.ชาตรี บานชื่น อธิบดีกรมสุขภาพจิต นพ.สมยศ ดีรัศมี อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และนพ.บวร งามศิริอุดม ที่ปรึกษาและผู้ถวายงานโครงการสายใยรักแห่งครอบครัว ร่วมกันแถลงข่าว การจัดงานรวมพล “อสม. นมแม่ เพื่อสายใยรักแห่งครอบครัว” ซึ่งกำหนดจัดในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2552 ที่เมืองทองธานี เพื่อกระตุ้นส่งเสริมให้คนไทยหันมาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นาน 6 เดือนขึ้นไปให้มากขึ้น

นายวิทยา กล่าวว่า ผลการศึกษาพัฒนาการและระดับสติปัญญาหรือไอคิวของเด็กไทย มีแนวโน้มลดลง ล่าสุดในปี 2545 พบว่าเด็กไทยอายุ 6-13 ปี มีไอคิวอยู่ที่ 88 จุด ซึ่งต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานสากลที่กำหนดไว้ คือ 90-110 จุด และผลสำรวจพัฒนาการสมวัยของเด็กวัยต่ำกว่า 5 ขวบ

ล่าสุดในปี 2550 พบมีแนวโน้มลดลง จากร้อยละ 72 ในปี 2547 เหลือร้อยละ 68 ในปี 2550 ถือเป็นดัชนีชี้วัดอนาคตเด็กไทยที่น่าห่วงมาก ซึ่งทั้งไอคิวและพัฒนาการของเด็ก ร้อยละ 70 เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงดูในครอบครัว อีกร้อยละ 30 มาจากกรรมพันธุ์

เรื่องที่น่าวิตกอย่างยิ่ง พบว่า แม่ไทยในยุคหลังๆ นิยมเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในอัตราที่ต่ำมาก ผลการศึกษาขององค์การยูนิเซฟ (UNICEF) ล่าสุดเมื่อ พ.ศ.2549 พบประเทศไทยมีอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือนเพียงร้อยละ 5.4 ซึ่งถือว่าต่ำที่สุดในเอเชีย และเป็นลำดับที่ 3 ก่อนสุดท้ายของโลก จะต้องเร่งแก้ไขอย่างเร่งด่วน

ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ในปี 2552 กระทรวงสาธารณสุขจะเน้น 2 เรื่อง คือ พัฒนาโรงพยาบาลทั่วประเทศทั้งรัฐและเอกชน ให้เป็นโรงพยาบาลสายใยรักครอบครัว ปลอดการขายนมผง และประกาศให้เป็นปีแห่งการสร้างอนาคตประเทศไทย ส่งเสริม อสม.ทั่วประเทศที่มี 830,000 คน ให้เป็นผู้วางรากฐานชีวิตเด็กเกิดใหม่ที่มีปีละประมาณ 800,000 คน ให้ได้รับการเลี้ยงดูที่เหมาะสม ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของชีวิต

เนื่องจากการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ทำให้เด็กไทยฉลาด สุขภาพดี อารมณ์ดี มีผลวิจัยทั่วโลกยืนยันตรงกันว่า เด็กที่กินนมแม่จะมีปัญญาดี หรือฉลาดกว่าเด็กที่ไม่ได้กินนมแม่ถึง 11 จุด ลดโอกาสเกิดโรคภูมิแพ้ ไม่ป่วยบ่อย

โดยจะให้ อสม.สำรวจหญิงตั้งครรภ์และหญิงหลังคลอดในทุกหมู่บ้านชุมชน เพื่อส่งเสริมให้เลี้ยงด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือน และเลี้ยงควบคู่อาหารตามวัยจนลูกอายุ 2 ปีหรือมากกว่า โดย อสม.1 คนจะให้ดูแลสุขภาพครอบครัวคนละ 8-15 หลังคาเรือน และจะให้กรมอนามัยประเมินผลในเดือนสิงหาคม ซึ่งเป็นสัปดาห์ส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่โลก ตั้งเป้าจะเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือนให้ได้ถึงร้อยละ 30

ในการรงค์ให้คนไทยหันมาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ในปีนี้กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดโล่รางวัลสาขาการส่งเสริมนมแม่ ให้ อสม.ที่มีผลงานดีเด่นระดับชาติเพื่อเป็นสาขาที่ 11 ด้วย เพื่อเป็นกำลังใจในการทำงานในวัน อสม.แห่งชาติ 20 มีนาคม 2552 นี้

โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ได้พระราชทานพระรูป พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ ขณะมีพระชันษาครบ 3 ปี ให้กระทรวงสาธารณสุขจัดทำโปสเตอร์ “ฉลาด แข็งแรง อารมณ์ดี เริ่มที่...นมแม่” จำนวน 100,000 แผ่น และใส่กรอบจำนวน 100 ภาพ มอบให้กับบุคคลที่ส่งเสริมสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ประธาน อสม.ระดับจังหวัด เพื่อเป็นขวัญ กำลังใจและเพื่อใช้ในกิจกรรมส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ด้วย

นพ.บวร งามศิริอุดม ที่ปรึกษาและผู้ถวายงานโครงการสายใยรักแห่งครอบครัว กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีเด็กเกิดปีละ 800,000 คน หาก อสม. 1 คนช่วยแม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ครบ 6 เดือน จะช่วยประหยัดเงินซื้อนมผงเดือนละ 3,000 บาท หรือปีละ 14,400 ล้านบาท เรื่องนี้เป็นเรื่องใกล้ตัวมากและ เหมาะกับสภาวะเศรษฐกิจโลกและไทยที่กำลังประสบวิกฤติถดถอยได้อย่างดี

โดยได้กำหนดบทบาท อสม. นมแม่ไว้ 4 ประการ คือ

1.สำรวจหญิงตั้งครรภ์ และเยี่ยมหญิงหลังคลอดที่บ้าน เพื่อช่วยเหลือการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

2.เผยแพร่ความรู้ ชักชวนให้แม่หลังคลอดเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวครบ 6 เดือน และกินนมแม่พร้อมอาหารตามวัยจนอายุครบ 2 ปี

3.เฝ้าระวังและปกป้องให้แม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่

4.ส่งต่อแม่หลังคลอดที่มีปัญหาเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขช่วยแก้ไข

“นมแม่” ลดความขัดแย้งเด็กตีกัน

ชี้!! การสัมผัสใกล้ชิดช่วยพัฒนาอีคิว


นพ.ชาตรี บานชื่น อธิบดีกรมสุขภาพจิต ระบุว่า นมแม่ช่วยในเรื่องการของที่เด็กโตขึ้นมาชอบทะเลาะวิวาทลดความขัดแย้งกัน เพราะจากข้อมูลวิชาการพบว่า นมแม่มีส่วนช่วยในเรื่องของการพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์หรืออีคิว

อีกทั้งการได้รับความรัก การสัมผัสใกล้ชิดจากมารดาขณะให้นมบุตรก็มีสานสัมพันธ์มีส่วนช่วยในการพัฒนาอีคิวด้วย ซึ่งแนวโน้มอีคิวของเด็กไทยน่าเป็นห่วงอย่างมาก เพราะต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน

เด็กตีกันเกิดจากปัจจัย 3-4 เรื่องได้แก่

1.ความแค้น โดยขาดการเจรจาต่อรอง ขาดอีคิวยับยั้งชั่งใจ

2.รุ่นพี่ทำตัวเป็นฮีโร่ในทางที่ผิด

3.เรื่องของศักดิ์ศรีของสถาบันการศึกษา

4.การสร้างปมขัดแย้งของเด็ก โดยวิธีแก้ไข ไม่ใช่ต่อหน้าก็มาจับมือกัน แต่แท้จริงแล้วมือเย็นเฉียบ แต่เดี๋ยวก็ตีกันใหม่ แต่อยู่ที่การพัฒนาทักษะด้วยการสร้างฮีโร่รูปแบบใหม่ ไม่ใช่นำรุ่นพี่ที่ตีกันมาเป็นฮีโร่

ทั้งนี้ ต้องแยกรุ่นพี่เหล่านี้ออกจากรุ่นน้องเพื่อไม่นำเป็นแบบอย่าง และนำพลังที่มาใช้ตีกันสร้างสรรค์ความดีงาม

นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การผลการศึกษาพัฒนาการและระดับสติปัญญาหรือไอคิวของเด็กไทยมีแนวโน้มลดลง ล่าสุด ปี 2550 ลดลงเหลือ 68% จากเดิมที่ปี 2547 ลดลง 72% ซึ่งปัญหานี้ 70% เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงดูของครอบครัว ส่วนอีก 30% มาจากกรรมพันธุ์

ครอบครัวสุขสันต์